วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วัตถุดิบที่ใช้ประกอบการทำขนมไทย

วัตถุดิบที่ใช้ประกอบการทำขนมไทย

ขนมหวานไทย มีรสหวานเป็นหลัก บางชนิดก็มีรสหวานจัด บางชนิดก็มีรสหวานอ่อน ๆ วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบขนมหวานไทย ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยน้ำตาล แป้ง กะทิ เป็นหลัก
1. น้ำตาล
ชนิดของน้ำตาลที่ใช้ในการประกอบอาหารมีหลายลักษณะ ความสำคัญของน้ำตาลกับขนมหวานโดยคือ
ทำให้อาหารมีรสหวาน เช่น เพิ่มความอร่อย ทำให้แป้งนุ่น อาหารอร่อยใสขึ้น ตกแต่งให้อาหารสวยงาม เคลือบไม่ให้อาหารแห้ง ทำให้อาหารมีสีสวย มีกลิ่นหอม น้ำตาลที่ใช้ในการประกอบขนมหวานไทย คือ

1.1 น้ำตาลทราย เป็นน้ำตาลที่เป็นผลึก ทำจากอ้อย น้ำตาลทรายจะมีสองสี สีขาว คือน้ำตาลที่ถูกฟอกจนมีสีขาวและแข็งสะอาดละลายน้ำยาก ส่วนน้ำตาลทรายสีแดง คือน้ำตาลทรายที่ไม่ได้ฟอกให้ขาวจึงมีกลิ่นหอม จะมีเกลือแร่ และวิตามินเหลืออยู่บ้าง ส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้น้ำตาลทรายแดง ยิ่งสีเข้ม แสดงว่ามีสารอื่นป่นอยู่มาก ส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้น้ำตาลทรายแดงทำขนมหวาน นอกจากขนมบางอย่าง เพื่อให้การทำอาหารสะดวกขึ้น น้ำตาลทรายออกมาขายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการใช้ เช่น น้ำตาลไอซิ่ง ได้จากน้ำตาลทรายขาวธรรมดา นำมาบดให้ละเอียดอ่อน เอาเฉพาะส่วนที่ป่นละเอียดเหมือนแป้ง ใส่แป้งข้าวโพดหรือแป้งมันมันลงไป 3 เปอร์เซนต์ เพื่อกันไม่ให้น้ำตาลจับกันเป็นก้อน
น้ำตาลป่น คือน้ำตาลทรายธรรมดาที่เอามาป่นให้ละเอียด แต่ไม่เท่ากับน้ำตาลไอซิ่ง การป่นน้ำตาลเพื่อให้ผสมเข้ากับเครื่องปรุงได้ง่าย

1.2 น้ำตาลไม่ตกผลึก(น้ำตาลปีบ)
ได้แก่ น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลทั้งสองชนิดนี้ นิยมทำขนมหวานไทย เช่น แกงบวด ขนมหม้อแกงสังขยา ฯลฯ เป็นต้น เพราะให้ความหอมหรือเคี่ยวทำน้ำเชื่อมชนิดข้นไว้หยอดหน้าขนม โดยบางชนิด เช่น ขนมเหนียว ขนมนางเล็ด ฯลฯ

1.3 น้ำเชื่อม
ในการทำขนมหวานไทย เราจะทำน้ำเชื่อมเองไม่นิยมชื้อน้ำเชื่อมเป็นขวดมาใช้ จะเริ่มต้นตั้งแต่ละลายน้ำตาลกับน้ำ ตั้งไฟเคี่ยวให้เดือด การทำน้ำเชื่อมให้ขาว คือฟอกสีน้ำตาล โดยใช้เปลือกไข่ฟอกกับน้ำตาลตั้งไฟพอละลายแล้วกรองนำไปตั้งไฟต่อ เคี่ยวจนได้น้ำเชื่อม เหนียวข้นตามต้องการเพื่อนำมาทำขนมชนิดต่าง ๆ

แป้งที่ใช้ในการประกอบขนมหวานไทย

2.1 แป้งข้าวเจ้า (Riceflour)
เป็นแป้งที่ทำจากเมล็ดข้าวเจ้า มีลักษณะเป็นผงมีสีขาวจับแล้วสากมือเล็กน้อย เมื่อทำให้สุกจะมีลักษณะขุ่นร่วน ถ้าทิ้งให้เย็นจะอยู่ตัวเป็นก้อน ร่วนไม่เหนียว จึงเหมาะที่จะประกอบอาหาร ที่ต้องการความอยู่ตัวร่วนไม่เหนียวหนืด เช่น ขนมขี้หนู ขนมกล้วย เส้นขนมจีน ฯลฯ สมัยก่อนนิยมโม่กันเอง โดยล้างข้าวสารก่อน แช่ข้าวโดยใส่น้ำให้ท่วมแช่จนข้าวนุ่ม จะโม่ง่าย ในปัจจุบันนิยมบดด้วยเครื่องบดไฟฟ้าบดให้ละเอียดแล้วจึงห่อผ้าขาวบางทับน้ำทิ้งจะได้แป้งข้าวเจ้าเรียกแป้งสด

2.2 แป้งข้าวเหนียว (Glutinous Riceflour)
เป็นแป้งที่ทำมาจากเมล็ดข้าวเหนียว ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว จับแล้วสากมือเล็กน้อย เมื่อนำไปทำให้สุกจะมีลักษณะขุ่นข้น เหนอะหนะ พอแป้งถูกความร้อนจะจับตัวเป็นก้อนค่อนข้างเหนียว เหมาะในการนำมาประกอบอาหารที่ต้องการความเหนียวเกาะตัว เช่น ขนมเทียน ขนมถั่วแปบ ขนมต้ม ฯลฯ

2.3 แป้งมันสำปะหลัง (Cassave Starch)
ทำมาจากหัวมันสำปะหลัง มีลักษณะเป็นผงสีขาว จับผิวสัมผัสของแป้งจะเนียน ลื่นมือ เมื่อทำให้สุกจะเหลวเหนียวหนืดและใช้ เมื่อพักให้เย็นจะมีลักษณะเหนียวเหนอะหนะคงตัว นิยมนำมาผสมกับอาหารที่ต้องการความเหนียวหนืดและใส เช่น ทับทิมกรอบ เต้าส่วน ฯลฯ ในการทำขนมหวานไทยนิยมนำแป้งมันสำปะหลังมาผสมกับแป้งชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ขนมมีความเหนียวนุ่มกว่าการใช้แป้งชนิดเดียว เช่น ขนมชั้น ขนมฟักทอง ขนมกล้วย ฯลฯ

2.4 แป้งข้าวโพด (Corn Starch)
เป็นแป้งที่สกัดมาจากเมล็ดข้าวโพด มีลักษณะเป็นผงสีขาวเหลืองนวลจับแล้วผิวสัมผัสของแป้งเนียนลื่นมือเมื่อทำให้สุก จะมีลักษณะข้นและใสไม่คืนตัวง่าย เมื่อเป็นตัวแป้งจะอยู่ตัวจับเป็นก่อนแข็งร่วนเป็นมันวาว ในขนมหวานไทย นิยมนำมาผสมกับอาหารเพื่อต้องการความข้นอยู่ตัว เมื่อสัมผัสดูเนื้อแป้งเนียนละเอียดลื่น

2.5 แป้งถั่วเขียว (Mung bean Starch)
เป็นแป้งที่สกัดมาจากถั่วเขียว เมล็ดแห้งมีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ จับผิวสัมผัสแล้วจะสากมือ ก่อนใช้ควรนำมาบดให้เป็นผงก่อน เมื่อทำให้สุกจะมีลักษณะข้นค่อนข้างใส เมื่อพักให้เย็นจะจับตัวเป็นก้อนแข็งอยู่ตัวค่อนข้างเหนียว เหมาะในการทำอาหารที่ต้องการความใสอยู่ตัว เช่น ซาหริ่ม ขนมลืมกลืน ฯลฯ

2.6 แป้งท้าวยายม่อม (Arrowroot Starca)
สกัดมาจากหัวมันท้าวยายม่อม มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาวเป็นเงา เวลาใช้ต้องบดให้ละเอียดเป็นผงเมื่อนำไปประกอบอาหารจะให้ความข้นเหนียวหนืดและใส เมื่อทำให้เย็นจะเหนียวตัวกว่าแป้งมันสำปะหลัง นิยมนำมาใช้ร่วมกับแป้งชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ได้อาหารที่มีความข้นเหนียว เป็นมันวาว เช่น ขนมชั้น ขนมน้ำดอกไม้ ฯลฯ

2.7 แป้งสาลี (Wheat Flour)
ทำจากเมล็ดข้าวสาลี ลักษณะเป็นผงมีสีขาวเมื่อทำให้สุกจะมีลักษณะร่วนเหลว ไม่อยู่ตัวคุณภาพของแป้งสาลีขึ้นอยู่กับปริมาณโปรตีนในเมล็ดขาวสาลี ซึ่งทำให้ได้ลักษณะของขนมต่างกัน แป้งสาลียังแบ่งออกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามคุณสมบัติของแป้งคือ

- แป้งสาลีสำหรับทำขนมปัง (Bread Flour) ทำจากข้าวสาลีชนิดหนัก มีปริมาณโปรตีน 12-13เปอร์เซนต์

- แป้งมีสีขาวนวล เมื่อสัมผัสผิวแป้งจะหยาบกว่าแป้งสาลีชนิดอื่น ปริมาณโปรตีนสูง ทำให้แป้งขนมปังสามารถดูดน้ำได้มาก มีความยืดหยุ่น เหนียว เหมาะสำหรับการทำขนมปัง ปาท่องโก๋ (แต่แป้งชนิดนี้ไม่นิยมนำมาขนมหวานไทย ส่วนใหญ่ใช้ทำขนมอบ)
- แป้งสาลีอเนกประสงค์ (All purpose Flour) ทำจากข้าวสาลีชนิดหมัก และชนิดเบาผสมรวมกัน มีโปรตีน 9-10 เปอร์เซนต์ แป้งมีสีขาวนวล ลักษณะหยาบแต่น้อยกว่าแป้งขนมปัง ให้ความเหนียวพอควร แต่คุณภาพจะสู้แป้งขนมปังไม่ได้ ใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิด เช่น คุกกี้ พาย กรอบเค็ม กะหรี่พัฟ
แป้งสาลีสำหรับทำเค้ก (Care Flour) ทำจากข้าวสาลีชนิดเบา มีปริมาณโปรตีน 6-9 เปอร์เซนต์สีขาวเนื้อแป้งละเอียด เมื่อนำมาผสมน้ำจะดูดซึมน้ำได้น้อยได้ก้อนแป้งที่เหนียวติด คือ เหมาะสำหรับทำขนมสาลี ขนมฝรั่ง ขนมเค้ก ฯลฯ

3. กะทิ
กะทิได้จากมะพร้าว ขนมไทยนิยมใช้กะทิที่คั้นเองจากมะพร้าวขูดใหม่ๆ ถ้าคั้นกะทิจากมะพร้าวที่มีกลิ่นจะทำให้กลิ่นของขนมเสีย ทั้งกลิ่นและรสอาจเปรี้ยว แก้ไขได้ยาก ไม่สามารถจะกลบกลิ่นของกะทิได้ แม้แต่นำไปตั้งไฟกวน มะพร้าวเมื่อซื้อมา ถ้ายังไม่ใช้ ควรเก็บในตู้เย็น หรือต้องคั้นเป็นกะทิทันที และทำให้ร้อนหรือให้สุกก่อนถ้าต้องการเก็บไว้ยังไม่ใช้ทันที การคั้นมะพร้าวเพื่อให้ได้หัวกะทิ จะนวดมะพร้าวก่อนใส่น้ำร้อนหรือน้ำสุกแต่น้อยนวดน้ำในมะพร้าวออกมา จะได้หัวกะทิข้นขาวในการทำขนมหวานโดยต้องการใช้หัวกะทิข้น ๆ เพื่อให้ขนมน่ารับประทาน ผู้ประกอบขนมหวานไทยจึงควรมีความรู้เรื่องการคั้นมะพร้าวให้ได้กะทิที่ข้น

4. กลิ่น
กลิ่นที่ใช้ในการทำขนมหวานไทย แต่ก่อนจะใช้ดอกไม้สดที่มีกลิ่นหอม เช่น ดอกมะลิ กระดังงา ฯลฯ นำมาอบร่ำในน้ำสะอาด เพื่อให้น้ำมีกลิ่นหอม แต่ในปัจจุบันภาวะสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไป ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ใช้ยาฆ่าแมลงฉีด เพื่อให้มีความคงทนและนำมาซึ่งอันตรายต่อผู้บริโภค จึงมีกลิ่นวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย เช่น กลิ่นมะลิกลิ่นใบเตย ฯลฯ

5. เกลือ
ในขนมหวานไทย เกลือให้รสเค็มมีบทบาทสำคัญ ทำให้ขนมเกิดรสชาติน่ารับประทานขึ้น เพราะเมื่อนำไปผสมกับกะทิ หรือมะพร้าว

6. สารช่วยให้ขึ้น
ขนมโดยมีความจำเป็นในการใช้สารช่วยขึ้นน้อย วิธีการทำ และส่วนผสม มีส่วนช่วยทำให้ขนมขึ้นโดยธรรมชาติ เช่นการทำปุยฝ้าย ขนมตาล ฯลฯ แต่ปัจจุบันลักษณะดั้งเดิมของขนมหวานไทยในท้องตลาดเปลี่ยนไปเพื่อธุรกิจการค้า หน้าตาขนมจะมีความน่ารับประทานขึ้น โดยอาศัยสารทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้แก่ ผงฟู เพื่อทำให้ขนมขึ้นเร็ว และมีลักษณะน่ารับประทาน

7. สีที่ใช้ตกแต่งอาหาร
ขนมหวานไทยบางอย่างไม่จะเป็นต้องใส่สี ก็ให้ความสวยตามธรรมชาติ เช่น ขนมปุยฝ้ายจะมีสีเหมือนชื่อ แต่ถ้าเป็นขนมที่ต้องมีสีจะใช้สีธรรมชาติ เช่น สีเขียวของใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีเหลืองจากขมิ้น สีแดงของครั่ง ฯลฯ ปัจจุบันได้มีสีผสมอาหารที่สามารถรับประทานได้แล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยใช้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ทำขนมหวานไทยให้ดูน่ารับประทานโดยใช้สีอ่อน ๆ

8. ไข่
ไข่ที่ใช้ในการทำขนมหวานไทย จะใช้ทั้งไข่ไก่และไข่เป็ด การนำไข่มาตีให้ขึ้นฟูมากจะเป็นตัวเก็บฟองอากาศช่วยทำให้ขนมโปร่งฟู การเลือกใช้ไข่ ควรใช้ไข่ที่ใหม่และสด


ความหมายของคำที่ใช้ในการประกอบขนมหวานไทย

ความหมายของคำที่ใช้ในการประกอบขนมหวานไทย
การประกอบขนมหวานไทย มีหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้น ๆ ว่าจะประกอบด้วยวิธีการแบบใดให้ขนมสำเร็จออกมาแล้วน่ารับประทาน ตัวอย่างวิธีการประกอบขนมหวานไทย คือ

1. ต้ม หมายถึง การนำอาหารใส่หม้อ พร้อมกับน้ำหรือกะทิ ตั้งไฟให้เดือดจนสุกตามความต้องการ การทำขนมที่ต้องต้ม และเป็นขนมที่ใช้ใบตองห่อ ต้องห่อให้สนิท ใบตองต้องไม่แตก เช่น ข้าวต้ม น้ำวุ้น แกงบวด ถั่วเขียวน้ำตาล ฯลฯ

2. หุง หมายถึง การทำอาหารที่ให้สุก โดยนำของที่ต้องการหุงใส่ลงในหม้อพร้อมกับน้ำ ตั้งไฟจนน้ำแห้ง จึงลดไฟให้อ่อนลง แล้วดงให้แห้งสนิท

3. นึ่ง หมายถึง การทำอาหารให้สุก โดยใช้ไอน้ำ โดยใส่ขนมลงในลังถึง ปิดฝาตั้งไฟให้น้ำเดือดนึ่งจนขนมสุก ส่วนมากจะเป็นขนมที่มีไข่ เป็นส่วนผสม เช่น ขนมสาลี ขนมทราย ขนมชั้น ขนมสอดไส้ ฯลฯ การใช้เวลานึ่งและความร้อนต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของขนมนั้น ๆ
4. ทอด หมายถึง การทำอาหารให้สุกด้วยน้ำมัน โดยใส่น้ำมันลงในกระทะ ตั้งไฟให้ร้อนทั่วแล้ว จึงจะใส่ขนมที่จะทอดลงไป ขนมบางชนิดใช้น้ำมันมาก เรียกว่า ทอดน้ำมันลอย ใช้ไฟปานกลางสม่ำเสมอ บางชนิดใช้น้ำมันน้อย ใช้กระทะก้นตื้น ดังนั้นการทอดจึงใช้กระทะตามลักษณะของขนมแต่ละชนิด การทอดถ้าใช้ไฟอ่อนมาก ขนมจะอมน้ำมัน จึงควรจะระมัดระวังด้วย ขนมที่ทอด เช่น ขนมฝักบัว ขนมทองพลุ ข้าวเม่าทอด ฯลฯ

5. จี่ คือ การทำขนมให้สุกในกระทะโดยใช้น้ำมันแต่น้อย ใช้น้ำมันทากระทะพอลื่น กระทะที่ใช้จะเป็นกระทะเหล็กหล่อแบน กว้าง เนื้อเหล็กหนา การจี่ใช้ไฟอ่อน ตั้งกระทะให้ความร้อนรุมอยู่ตลอดเวลา และกลับขนมให้เหลืองเสมอกันทั้งสองด้าน เช่น ขนมแป้งจี่

7. ปิ้ง หมายถึง การทำอาหารให้สุก โดยการวางขนมที่ต้องการปิ้งไว้เหนือไฟ มีตะแกรงรองรับไฟไม่ต้องแรงนัก กลับไปกลับมาจนขนมสุก อาหารบางชนิดใช้ใบตองห่อ แล้วปิ้งจนใบตองที่ห่อเกรียบหรือกรอบ เช่น ขนมจาก ข้าวเหนียวปิ้ง ก่อนที่จะปิ้งใช้ขี้เถ้ากลบไว้เพื่อให้ไฟร้อนสม่ำเสมอกัน

8. ผิงและอบ ขนมที่ใช้ผิงมีหลายชนิด จะใช้ผิงด้วยไฟบน และไฟล่าง ไฟจะต้องมีลักษณะอ่อนเสมอกันปัจจุบันใช้เตาอบแทนการผิง เช่น ขนมหม้อแกง ขนมสาลี่กรอบ ขนมผิง ฯลฯ

9. กวน เริ่มต้นกวนตั้งแต่ขนม ยังเป็นของเหลว ในขณะที่ขนมยังเหลว ส่วนที่ควรระมัดระวังเวลากวน คือก้นกระทะต้องหมั่นใช้ไม้พายขูดกลับไปกลับมา เพื่อไม่ให้ส่วนผสมติดก้นกระทะ ระยะขนมรวมตัวกันแล้ว ให้คนไปทางเดียวกัน ต้องคอยระวังก้นกระทะ ขนมจะไหม้หากกวนไม่ทั่ว ไม่ควรปล่อยให้ขนมจับปากกระทะ หมั่นขูดอยู่เสมอ พายที่ใช้ควรมีขนาดพอเหมาะ กับส่วนผสมในกระทะ และความถนัดในการใช้ เช่น ถั่วกวน เผือกกวน กล้วยกวน

10. คลุก คือ การผสมของตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ให้เข้ากัน เช่น ข้าวเม่าคลุก การคลุกควรใช้ช้อนส้อม พายไม้ คลุกเบาๆ พอให้ขนมรวมกัน และมีรสเสมอกัน

11. ตีไข่ คือ การทำไข่ให้ขึ้น มีหลายขนาด การตีไข่ให้ได้ผล ควรตีให้มีจังหวะสม่ำเสมอ ไม่หยุดมือจนกว่าไข่จะขึ้นฟู และอยู่ตัวตามต้องการ ถ้าตีแล้วหยุดบ่อย ๆ จะทำให้ไข่เสียได้
12. คน หมายถึง การคนขนมที่ประกอบด้วยเครื่องปรุงที่เป็นแป้ง ส่วนผสมชนิดอื่น ๆ จะกวนหรือนึ่ง ควรได้มีการคนเสียก่อน เพื่อให้แป้งรวมตัวกับส่วนผสมอื่น แล้วจึงตักใส่ภาชนะนึ่ง หรือใส่กระทะกวน

13. คั่ว หมายถึง การทำให้สุก โดยใช้อาหารลงในกระทะ แล้วใช้ตะหลิวเขี่ยวัตถุนั้น ๆ ให้กลับไปกลับมา เช่น คั่วงา ไฟที่ใช้ในการคั่ว ไม่ควรใช้ไฟแรง จะทำให้อาหารไหม้

14. แซะ คือ การทำให้วัตถุที่ติดอยู่กับภาชนะหลุดออกจากภาชนะ โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะปากแบน ปลายคม เช่น แซะขนมเบื้อง ค่อย ๆ แซะแผ่นแป้งให้หลุดจากกระทะ โดยแซะไปรอบ ๆ ขนม

15. ละเลงคือ การกระจายของเหลวให้แผ่ออกเป็นวงกว้าง เช่น ละเลงขนมเบื้อง โดยจะใช้กระจ่าที่ทำด้วยกะลามะพร้าวแบน ๆ มีด้ามถือ ตักแป้งที่มีลักษณะเหลว หยดลงในกระทะ ใช้กระจ่าวางลงตรงกลางแป้ง ใช้มือกดให้วนไปโดยรอบ จนแป้งจับกระทะเป็นแผ่นตามต้องการ
16. ยี คือ การทำให้วัตถุที่จับเป็นก้อนก่อนกระจายออกจากกัน เช่น การยีแป้งขนมขี้หนู หลังจากการใส่น้ำเชื่อม จนแป้งระอุ และอิ่มน้ำเชื่อมแล้ว ต้องทำขนมให้ฟู โดยการยีเบา ๆ มือ ให้แป้งกระจายออกจากกัน จนเนื้อละเอียด

17. ร่อนคือ การแยกวัตถุที่มีเนื้อหยาบ ออกจากส่วนละเอียดหรือเกี่ยวกับการทำขนมเช่น ขนมละอองลำเจียก ใช้แป้งข้าวเหนียวที่นวดกับหัวกะทิหมาด ๆ ใส่แร่งร่อนในกระทะให้จับเป็นแผ่น บรรจุไส้ม้วนให้สวย

ขนมไทยของขวัญนานาเทศกาล

ขนมไทยของขวัญนานาเทศกาล

ขนมไทย มีมากมายหลายชนิด ทั้งที่เป็นขนมไทยแบบโบราณ และขนมที่รับมาจากต่างประเทศจนกลืนเป็น ขนมของไทย ด้วยความช่างประดิดประดอย คิดค้นและวิวัฒนาการของคนไทย ทำให้ ขนมไทย โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีคุณค่าในตัวเอง ปัจจุบันคนไทยหันมานิยมใช้ ขนมไทย เป็นของขวัญของฝากในนานาเทศกาลไม่ว่าจะเป็น วันขึ้นปีใหม่ไทยหรือสากล วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นบ้านใหม่ วันเกษียณอายุราชการ ฯลฯ ขนมไทยกับความหมายให้เลือกใช้ตามเทศกาล
- ขนมชั้น - ความเจริญก้าวหน้าในขั้น เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนชั้น
- ขนมจ่ามงกุฎ - ความเจริญก้าวหน้า เป็นหัวหน้า เลื่อนยศ
- ขนมถ้วยฟู - ความเจริญฟูเฟื่อง รุ่งเรือง
- ขนมตาล - ความหวานชื่น ราบรื่นของชีวิต
- ขนมทองเอก - ความเป็นหนึ่ง
- ขนมลูกชุบ - ความน่ารักน่าเอ็นดู มักใช้กับผู้ใหญ่ให้กับผู้น้อย
- ข้าวเหนียวแก้ว - ความดีประเสริฐ ดุจดังแก้ว
- ขนมเสน่ห์จันทร์ - ความมีเสน่ห์ดุจจันทร์วันเพ็ญ ฯลฯ
ที่สำคัญหากเป็นขนมที่ทำขึ้นเอง รสอร่อย สวยงาม ซึ่งแสดงถึงความตั้งใจจริงของผู้ให้ พร้อมบัตรคำอวยพรที่มีความหมายคล้องจองกับขนมที่ให้จะประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับ


ขนมไทยสู่ตลาดโลก

ขนมไทยสู่ตลาดโลก
ปัจจุบัน ขนมไทย ก้าวไกลสู่ตลาดนานาประเทศทั่วโลกสามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยของเราอีกทางหนึ่ง เช่น ขนมไทย จาก บ้านขนมไทยนพวรรณ ของอาจารย์นพวรรณ จงสุขสันติกุล
เมื่อพูดถึงขนมไทย หลายคนอาจนึกถึงความหวานมันของกะทิ และความหวานของน้ำตาล ซึ่งมีผลต่อสุขภาพมากมาย แต่ถ้าพูดถึง ขนมไทยเพื่อสุขภาพ หลายคนอาจสงสัยว่า ความหวานกับความมัน จะดีต่อสุขภาพได้อย่างไร? แต่อาจารย์นพวรรณทำได้ โดยพัฒนา รูปแบบ และดัดแปลงความหวาน ด้วยการใช้ ความหวานจากผลไม้ ส่วน ความมันกะทิ ก็ลดปริมาณลงแล้วใส่ข้าวบาร์เลย์แทนหรือการนำ พืชผัก และสมุนไพร มาเป็นส่วนผสมด้วย เช่น ดอกอัญชันแทน สีน้ำเงิน ดอกคำฝอยแทน สีแดง ใบเตยแทน สีเขียว หรือ ใส่งาดำ เพิ่มคุณค่าอาหาร ทำให้เกิด ขนมไทย รูปแบบใหม่ ที่มีความอร่อยลงตัว และ ส่งผลดีต่อสุขภาพได้ด้วย บ้านขนมไทยนพวรรณ มีขนมให้เลือกมากมายกว่า ๑๐๐ ชนิด ด้วยการผลิตที่สดใหม่ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำชื่อเสียงให้กับบ้านขนมไทย เน้นการจัดตกแต่งและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้ขนมไทยนพวรรณ มีชื่อเสียงและขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศในรูปแบบแฟรนไชส์ ที่มีมาตรฐานและคุณภาพ ช่วยให้ท่านสามารถเลือกใช้ขนมไทยในโอกาสพิเศษ เช่น งานเลี้ยงต่างๆ หรือการประชุม หรือเป็นของขวัญของฝากผู้ใหญ่ ญาติสนิทมิตรสหายได้ทุกเทศกาล หรือจะทำเป็นธุรกิจ SME ส่วนตัว ก็สามารถทำ

ขนมไทยในพิธีกรรม

ขนมไทยในพิธีกรรม
ขนมที่นิยมใช้ทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคลหรือพิธีกรรมที่ขาดไม่ได้ ได้แก่ ขนมตระกูลทอง เช่น ทองเอก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และ
ขนมมงคลนาม เช่น ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น ขนมจ่ามงกุฎ ขนมเสน่ห์จันทร์

ขนมไทยในพิธีกรรมต่างๆ มีดังนี้
พิธีแต่งงาน นอกจากจะมีขนมมงคลนามที่ใช้ในงานมงคลแล้ว ที่ต้องมีคือ
- ขนมกง รูปร่างเป็นล้อรถไม่มีรอยต่อ มีความเชื่อว่าจะทำให้ความรักของคู่บ่าวสาวจีรัง ไม่มีวันแยกจากกัน
- ขนมโพรงแสม มีรูปร่างยาวใหญ่คล้ายกับเสาเรือน ทำให้อยู่กันยืนยาว
- ขนมสามเกลอ มีลักษณะเป็นสามก้อนติดกัน ให้คู่บ่าวสาวเสี่ยงทายว่าจะอยู่ด้วยกันได้นานหรือไม่ หากขนมแยกจากกันก็ถือว่าไม่ใช่เนื้อคู่ที่แท้จริง นอกจากนี้ยังมี
- ขนมใส่ไส้
- ขนมฝักบัว
- ขนมบ้าบิ่น
- ขนมนมสาว อีกด้วย

พิธีบวงสรวงสังเวยเทพยดาและพระภูมิ นิยมใช้ขนมที่เป็นมงคลนามแล้ว ก็มีขนมตามความเชื่อ ในลัทธิพราหมณ์ ดังนี้
- ขนมต้มแดง
- ขนมต้มขาว
- ขนมเล็บมือนาง
- ขนมคันหลาว
- ขนมดอกจอก
- ขนมทองหยิบ
- ขนมถั่วแปบ
- ขนมหูช้าง
- ข้าวเหนียวแดง
- ขนมประเภทบวชต่างๆ

ขนมไทยในวิถีไทย

ขนมไทยในวิถีไทย
วิถีชีวิตของคนไทยนั้นเป็นสังคมเกษตรที่มีผลิตผลทางธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น กล้วย อ้อย มะม่วง รวมไปถึงข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ฯลฯ ที่สามารถปรุงเป็น ขนม ได้มากมายหลายชนิด เช่น อยากได้ กะทิ ก็เก็บมะพร้าวมาขูดคั้นน้ำกะทิ อยากได้ แป้งก็นำข้าวมาโม่เป็นแป้งทำขนมอร่อยๆ เช่น บัวลอย กินกันเองในครอบครัว
ขนมไทยถูกนำไปใช้ในงานบุญตามประเพณีและงานพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวไทย โดยนิยมทำขนมชื่อมีมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย เพราะคนไทยถือว่า "ทอง" เป็น ของดีมีมงคลทำแล้วได้มีบุญกุศล มีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนมนั่นเอง
ขนมไทยในงานประเพณี ที่นิยมใช้ในงานประเพณีต่างๆ มีดังนี้
เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย จะใช้ขนมที่เป็นมงคลนาม จัดเป็นขนมชั้นดีใช้ในการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วก็เตรียมขนมสำหรับรับรองแขกเหรื่อ ที่มารดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ สมัยโบราณจะกวนกะละแมแต่ปัจจุบันอาจใช้ขนมอื่นๆ ที่อร่อยและสวยงาม เช่น ขนมชั้น ขนมลูกชุบ ตามความสะดวก
เทศกาลเข้าพรรษา (แรม ๑ ค่ำเดือน ๘) ขนมไทยที่ใช้ได้แก่ ข้าวต้มมัดและขนมแกงบวดต่างๆ เช่น ฟักทองแกงบวด กล้วยบวชชี เป็นต้น
เทศกาลออกพรรษา มีพิธีทำบุญตักบาตรเทโว ขนมที่ใช้ในการทำบุญ คือข้าวต้มลูกโยน
สารทไทย เป็นงานประเพณีที่ชาวไทยทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรผู้ล่วงลับ จะมีขนมไทยประจำภาค อาทิ
ภาคเหนือ : กล้วยตาก เพราะมีกล้วยมาก นอกจากตากก็มีกวนและของแช่อิ่ม
ภาคกลาง : กระยาสารท เคียงคู่กับกล้วยไข่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เรียกว่า งานบุญข้าวจี่ ขนมที่ใช้ได้แก่ ขนมเทียน ข้าวจี่
ภาคใต้ : เรียกว่างานบุญเดือนสิบ ขนมที่ใช้ได้แก่ ขนมลา ขนมกง ขนมพอง

ขนมไทย

ขนมไทยๆจ้า
ขนมไทย หัตถกรรมความอร่อยที่แสดงออกถึงความอ่อนช้อยของความเป็นไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่ก่อกำเนิดภูมิปัญญาไทยหลากหลายอย่างให้สืบสานต่อทั้งวิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถนำวัสดุมีอยู่ในท้องถิ่นมาปรุงแต่งเป็นของหวานได้มากหลายรูปแบบ จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยมีลักษณะนิสัยอย่างไร เพราะขนมแต่ละชนิดล้วน มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อน ประณีต วิจิตรบรรจงในรูปลักษณ์ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ วิธีการทำที่กลมกลืน ความพิถีพิถัน สีที่ให้ความสวยงาม มีกลิ่นหอม รสชาติของขนมที่ละเมียดละไมชวนให้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนใจเย็น รักสงบ มีฝีมือเชิงศิลปะ
คำว่า "ขนม" เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่มาผสมกันคือ "ข้าวหนม" และ "ข้าวนม" เข้าใจว่าเป็นข้าวผสมน้ำอ้อย น้ำตาล โดยอนุโลมคำว่าหนม แปลว่า หวาน ข้าวหนม ก็แปลว่า ข้าวหวาน เรียกสั้นๆ เร็วๆ ก็กลายเป็น ขนม ไป ส่วนที่ว่ามาจากข้าวนม (ข้าวเคล้านม) นั้นดูจะเป็นตำนานแขกโบราณ อย่างข้าวมธุปายาส (ที่นางสุชาดาทำถวายพระพุทธเจ้าเมื่อตอนตรัสรู้ก็ว่าเป็นข้าวหุงกับนม)
คำว่า ขนม มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า "ขนมไทย" เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ "ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ" ถามผู้ใหญ่ดูถึงได้รู้ว่า ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลัก นกปล่อย หมายถึง ลอดช่อง บัวลอย หมายถึง ข้าวตอก อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียว ขนมทั้งสี่ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ "น้ำกะทิ" โดยใช้ถ้วยใส่ขนม ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม ๔ อย่างนี้ว่า "ประเพณี ๔ ถ้วย"
ขนมประเภทที่ใช้ข้าว (แป้ง) น้ำตาล มะพร้าว คงจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เพราะมีการติดต่อกับต่างประเทศ กล่าวว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาวิชาเยนชร์บรรดาศักดิ์ "ท้าวทองกีบม้า" ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับชาวพนักงานของหวาน ได้ประดิษฐ์คิดค้นขนมตระกูลทองเพราะมีไข่ผสมคือ ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ฝอยทอง ทองโปร่ง เป็นต้น

ประวัติขนมไทย


ประวัติขนมไทย
สมัยสุโขทัย ขนมไทยมีที่มาคู่กับชนชาติไทย จากประวัติศาสตร์ที่ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศคือ จีนและอินเดียในสมัยสุโขทัย มีส่วนช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย
สมัยอยุธยา เริ่มมีการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศทั้งชาติตะวันออกและตะวันตก ไทยเรายิ่งรับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ เครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบที่หาได้ ตลอดจนนิสัยการบริโภคของคนไทยเอง จนบางทีคนรุ่นหลังแทบจะแยกไม่ออกเลยว่า อะไรคือขนมไทยแท้ๆ อะไรที่เรายืมเค้ามา เช่น ทองหยิบ ทองหยอดและฝอยทอง หลายท่านอาจคิดว่าเป็นของไทยแท้ๆ แต่ความจริงแล้วมีต้นกำเนิดจากประเทศโปรตุเกส โดย "มารี กีมาร์" หรือ "ท้าวทองกีบม้า"